วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์

เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์ จะกล่าวใน 2 ประเด็น คือ
          (1) องค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และ
          (2) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูง

            ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ครอบคลุมศัพท์เฉพาะศาสตร์ โครงสร้างเนื้อหาสาระและวิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 2540 : 5)

         1) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (Nomenclatures) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มีศัพท์เฉพาะศาสตร์ที่ครอบคลุมศัพท์ด้านการจัดระบบและออกแบบระบบ พฤติกรรม วิธีการ การสื่อสาร (โสตทัศน์ สื่อมวลชน สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสื่อคอมพิวเตอร์) สภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้ และการประเมิน ศัพท์เหล่านี้บางส่วนก็ใช้ร่วมกับสาขาอื่นของศึกษาศาสตร์ บางส่วนก็บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะ

        2) โครงสร้างเนื้อหาสาระ (Structure of Content) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มีโครงสร้างเนื้อหาสาระที่จำเป็น 3 มิติ คือ แนวตั้ง ได้แก่ มิติทางสาระจำแนกเป็น 7 ขอบข่าย ได้แก่ การจัดระบบและออกแบบระบบ พฤติกรรม วิธีการ การสื่อสาร (โสตทัศน์ สื่อมวลชน สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสื่อคอมพิวเตอร์) สภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้และการประเมิน แนวนอน ได้แก่ มิติภารกิจที่เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานำไปใช้ในการสนับสนุนสาขาอื่นของศึกษาศาสตร์ ประกอบด้วย 3 ภารกิจ ได้แก่ บริหาร วิชาการและบริการ แนวลึก ได้แก่ มิติทางรูปแบบการศึกษาที่เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การฝึกอบรมและการศึกษาทางไกล

       3) วิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (Mode of Inquiries) เป็นวิธีการที่ใช้ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เพื่อขยายพรมแดนแห่งความรู้ด้านนี้ให้เพิ่มพูนขึ้น

               ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวถึงเกณฑ์กำหนดวิชาชีพชั้นสูง มี 8 ประการ กล่าวคือ มีลักษณะบริการที่เด่นชัด ใช้กระบวนการทางสติปัญญา มีเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ มีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาแน่นอน มีการฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพ มีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีองค์กรหรือสมาคมกำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 2540 : 6-7)

    1) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามีลักษณะบริการที่เด่นชัด การบริการของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาครอบคลุม
         - การให้บริการด้านการจัดระบบและออกแบบระบบ เช่น บริการจัดระบบการเรียนการสอน การออกแบบการสอน เป็นต้น
         - การกำหนดลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมผู้สอน ผู้เรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
         - พัฒนาและคิดค้นวิธีการทางการศึกษาและการเรียนการสอน
         - การกำหนดรูปแบบการสื่อสาร (การส่ง การปรุงแต่งสาร ช่องทางและสื่อ และการรับสาร
         - การให้บริการด้านการจัดสภาพแวดล้อมการศึกษา (ในห้องเรียน เช่น การจัดมุมวิชาการ การจัดห้องเรียน ฯลฯ นอกห้องเรียน เช่น ศูนย์วิทยบริการ ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ ฯลน)
         - การเสนอวิธีการจัดการเรียนการสอน อาทิ การจัดการเกี่ยวกับนักเรียน สื่อการสอน
         - การบริการด้านการวัดและการประเมิน (ในเมืองไทยปัจจุบันจะอยู่ในความดูแลของนักวัดผล แต่ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ จะอยู่ในความดูแลของนักเทคโนโลยีการศึกษา)

     2) การใช้กระบวนการทางสติปัญญา เป็นการใช้กระบวนการคิด ใคร่ครวญที่มีระเบียบระบบในการให้บริการ มิใช่เพียงการออกแรงกายเท่านั้น แม้บ่อยครั้งนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจจะต้องใช้แรงงาน ก็เพียงเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มิใช่รอแรงงานจากฝ่ายอื่น แล้วนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเป็นฝ่ายชี้มองให้คนอื่นออกแรงเพียงอย่างเดียว

    3) การมีเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หมายถึง การที่นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา สามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ในการให้บริการในวิชาชีพของตนอย่างเป็นอิสระ กล่าวคือ มีอำนาจในการวางแผน เตรียมการดำเนินการและประเมินผลงานของตนเอง และสามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าในสายงานครบวงจรจากต่ำไปถึงสูงในกรอบแห่งกฎระเบียบและจรรยาบรรณในวิชาชีพ

    4) การมีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาเด่นชัด ผู้ที่จะมาเป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จะต้องผ่านการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ หรือมีประสบการณ์ที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่านั้น หลักสูตรการศึกษาอบรมมักมีจำนวนหน่วยกิตที่จะศึกษาและมีจำนวนปีที่จะศึกษาแน่นอน เช่น หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สำหรับผู้สำเร็จมัธยมศึกษา 2 ปี สำหรับผู้สำเร็จอนุปริญญาหรือปริญญาตรีมาแล้ว นอกจากนี้ นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (นับถึงปี พ.ศ.2538 มีสถาบันที่เปิดสอนถึงระดับปริญญาโทในเมืองไทยประมาณ 12 สถาบัน และปริญญาเอก 2 สถาบัน)

     5) การเข้ารับการฝึกงานหรือรับประสบการณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติม เมื่อเรียนวิชาครบตามกำหนดไว้ในหลักสูตรแล้ว นักศึกษาจะต้องเข้าฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ณ สถานที่และในเวลาที่กำหนด เพื่อให้มีโอกาสฝึกการนำความรู้ความสามารถมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง

     6) การมีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่ผ่านการศึกษาอบรมแล้ว ก็จะได้รับปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือวุฒิบัตรที่มีฐานะเทียบเท่าในบางประเทศ ผู้ประกอบอาชีพเป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจต้องได้รับใบอนุญาต (Credential/License) ก่อนที่จะประกอบวิชาชีพ สำหรับในเมืองไทย การได้รับปริญญาบัตรนับเป็นใบอนุญาตไปในตัว

     7) การมีจรรยาวิชาชีพเป็นกรอบกำหนดความประพฤติ ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเอารัดเอาเปรียบหรือทำความเดือดร้อนให้ตนเองหรือผู้อื่นและก้าวล้ำสิทธิวิชาชีพอื่น ในประเทศไทย นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาส่วนใหญ่เป็นครูจึงอยู่ในการควบคุมของจรรยาวิชาชีพครู เมื่อมีสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาขึ้นแล้ว สมาคมนี้
ก็อาจจะกำหนดจรรยาวิชาชีพนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

     8) การมีองค์กรหรือสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา องค์กรดังกล่าวจะมีหน้าที่กำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยและส่งเสริมคุณภาพของสมาชิกที่เป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เพื่อให้มีองค์ความรู้เพิ่มพูนและแนวปฏิบัติในการบริการมีประสิทธิภาพ

         สรุปได้ว่า เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์ที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวไว้มี 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก องค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาครอบคลุมด้าน (1) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (nomenclatures) ได้แก่ การจัดระบบและออกแบบระบบ พฤติกรรมวิธีการ การสื่อสาร สภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้และการประเมิน (2) โครงสร้างเนื้อหาสาระ (structure of content) ที่จำเป็น 3 มิติ คือ มิติด้านสาระ มิติด้านภาระกิจ และมิติด้านรูปแบบการศึกษา (3) วิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (mode of inquiries) เป็นวิธีการใช้เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ด้านนี้เพิ่มขึ้นประเด็นที่สอง คือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูง เป็นการกล่าวถึงเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูง 8 ประการ คือ มีลักษณะบริการที่เด่นชัด ใช้กระบวนการทางสติปัญญา มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาแน่นอน มีการฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพ มีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีองค์กรหรือสมาคมกำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพคำกล่าวในประเด็นสอง คือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูงมีการกำหนดเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูงไว้ครอบคลุมคุณลักษณะตามองค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีการศึกษา สามารถนำเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูงเหล่านี้ไปประกอบการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางเทคโนโลยีการศึกษาต่อไป

อ้างอิง
         
          ชัยยงค์ พรหมวงศ์. เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูง หน่วยที่ 1 เอกสารการสอนชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา. นนทบุรี. สาขาวิชาศึกษาศาสตร์. 2540

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น