วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

ประโยชน์ของการสื่อสารข้อมูล

 ประโยชน์ของการสื่อสารข้อมูล

            ความสำคัญของการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นสิ่งที่ตระหนักกันอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยเหตุว่าการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์มีประโยชน์หลายประการด้วยกันคือ
           1. จัดเก็บข้อมูลได้ง่ายและสื่อสารได้รวดเร็ว การจัดเก็บข้อมูลซึ่งอยู่ในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ สามารถจัดเก็บไว้ในแผ่นบันทึก (Diskette) ที่มีความหนาแน่นสูงได้ แผ่นบันทึกแผ่นหนึ่งสามารถบันทึกข้อมูลได้มากกว่า 1 ล้านตัวอักษร สำหรับการสื่อสารข้อมูลนั้น ถ้าข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์ได้ด้วยอัตรา 120 ตัวอักษรต่อวินาทีแล้ว จะสามารถส่งข้อมูล 200 หน้า ได้ในเวลา 40 นาที โดยที่ไม่ต้องเสียเวลามานั่งป้อนข้อมูลเหล่านั้นซ้ำใหม่อีก
           2. ความถูกต้องของข้อมูล โดยปกติมีการส่งข้อมูลด้วยสัญญาณทางอิเล็กทรอนิกส์ จากจุดหนึ่งไปยังจุดอื่นด้วยระบบดิจิทัล วิธีการรับส่งนั้นจะมีการตรวจสอบสภาพของข้อมูล หากข้อมูลผิดพลาดก็จะมีการรับรู้และพยายามหาวิธีการแก้ไขให้ข้อมูลที่ได้รับมีความถูกต้อง โดยอาจให้ทำการส่งใหม่หรือกรณีผิดพลาดไม่มาก ฝ่ายผู้รับอาจใช้โปรแกรมของตนเองแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้
           3. ความเร็วของการทำงาน สัญญาณทางไฟฟ้าจะเดินทางด้วยความเร็วเท่าแสง ทำให้การใช้คอมพิวเตอร์ส่งข้อมูลจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งหรือค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ความรวดเร็วของระบบจะทำให้ผู้ใช้สะดวกสบายอย่างยิ่ง เช่น บริษัทสายการบินทุกแห่งสามารถทราบข้อมูลของทุกเที่ยวบินได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การจอง ที่นั่งของสายการบินสามารถทำได้ทันที
          4. ต้นทุนประหยัด การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ต่อเข้าหากันเป็นเครือข่าย เพื่อส่งหรือสำเนาข้อมูลทำให้ราคาต้นทุนของการใช้ข้อมูลไม่แพง เมื่อเทียบกับการจัดส่งแบบวิธีอื่น นักคอมพิวเตอร์บางคนสามารถส่งโปรแกรมให้กันและกันผ่านทางสายโทรศัพท์ได้


 ที่มา       http://www.drpaitoon.com/modules.phpop=modload&name=Sections&file=index&req=viewarticle&artid=30&page=1

มโนทัศน์ของเทคโนโลยีการศึกษา

              เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นการขยายแนวคิดเกี่ยวกับโสตทัศน์ศึกษาให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากโสตทัศนศึกษาหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ตาดูหูฟัง ดังนั้นอุปกรณ์ในสมัยก่อนมักเน้นการใช้ประสาทสัมผัส ด้านการฟังและการดูเป็นหลัก จึงใช้คำว่าโสตทัศนอุปกรณ์ หรือโสตทัศนูปกรณ์เทคโนโลยีทางการศึกษามีความหมายที่กว้างกว่า ซึ่งอาจพิจารณาจากความคิดรวบยอดของเทคโนโลยีได้เป็น 2 ประการ ดังนี้
              1.2.1 ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ หมายถึง การประยุกต์วิทยาศาสตร์กายภาพ ในรูปของสิ่งประดิษฐ์ เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์โทรทัศน์ ฯลฯ มาใช้สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ การใช้เครื่องมือเหล่า มักคำนึงถึงเฉพาะการควบคุมให้เครื่องทำงาน เน้นเรื่องวัสดุ อุปกรณ์ มากกว่าจะคำนึงถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลและการเลือกสื่อให้ตรงกับเนื้อหาวิชา
              1.2.2 ความคิดรวบยอดทางพฤติกรรมศาสตร์ หมายถึง การนำวิธีการทางจิตวิทยา มานุษยวิทยา กระบวนการกลุ่ม ภาษา การสื่อความหมาย การบริหาร เครื่องยนต์กลไก การรับรู้มาใช้ควบคู่กับผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะเน้นเรื่องเทคนิคที่เป็นวิธีการ และกระบวนการเรียนการสอนมากกว่าวัสดุ และเครื่องมือ

ที่มา http://www.nrru.ac.th/preelearning/rungrot/page01005.asp

เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์

เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์ จะกล่าวใน 2 ประเด็น คือ
          (1) องค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และ
          (2) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูง

            ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ครอบคลุมศัพท์เฉพาะศาสตร์ โครงสร้างเนื้อหาสาระและวิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 2540 : 5)

         1) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (Nomenclatures) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มีศัพท์เฉพาะศาสตร์ที่ครอบคลุมศัพท์ด้านการจัดระบบและออกแบบระบบ พฤติกรรม วิธีการ การสื่อสาร (โสตทัศน์ สื่อมวลชน สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสื่อคอมพิวเตอร์) สภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้ และการประเมิน ศัพท์เหล่านี้บางส่วนก็ใช้ร่วมกับสาขาอื่นของศึกษาศาสตร์ บางส่วนก็บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะ

        2) โครงสร้างเนื้อหาสาระ (Structure of Content) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มีโครงสร้างเนื้อหาสาระที่จำเป็น 3 มิติ คือ แนวตั้ง ได้แก่ มิติทางสาระจำแนกเป็น 7 ขอบข่าย ได้แก่ การจัดระบบและออกแบบระบบ พฤติกรรม วิธีการ การสื่อสาร (โสตทัศน์ สื่อมวลชน สื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสื่อคอมพิวเตอร์) สภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้และการประเมิน แนวนอน ได้แก่ มิติภารกิจที่เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานำไปใช้ในการสนับสนุนสาขาอื่นของศึกษาศาสตร์ ประกอบด้วย 3 ภารกิจ ได้แก่ บริหาร วิชาการและบริการ แนวลึก ได้แก่ มิติทางรูปแบบการศึกษาที่เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การฝึกอบรมและการศึกษาทางไกล

       3) วิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (Mode of Inquiries) เป็นวิธีการที่ใช้ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เพื่อขยายพรมแดนแห่งความรู้ด้านนี้ให้เพิ่มพูนขึ้น

               ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวถึงเกณฑ์กำหนดวิชาชีพชั้นสูง มี 8 ประการ กล่าวคือ มีลักษณะบริการที่เด่นชัด ใช้กระบวนการทางสติปัญญา มีเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพ มีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาแน่นอน มีการฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพ มีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีองค์กรหรือสมาคมกำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ (ชัยยงค์ พรหมวงศ์ 2540 : 6-7)

    1) เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษามีลักษณะบริการที่เด่นชัด การบริการของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาครอบคลุม
         - การให้บริการด้านการจัดระบบและออกแบบระบบ เช่น บริการจัดระบบการเรียนการสอน การออกแบบการสอน เป็นต้น
         - การกำหนดลักษณะและรูปแบบพฤติกรรมผู้สอน ผู้เรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
         - พัฒนาและคิดค้นวิธีการทางการศึกษาและการเรียนการสอน
         - การกำหนดรูปแบบการสื่อสาร (การส่ง การปรุงแต่งสาร ช่องทางและสื่อ และการรับสาร
         - การให้บริการด้านการจัดสภาพแวดล้อมการศึกษา (ในห้องเรียน เช่น การจัดมุมวิชาการ การจัดห้องเรียน ฯลฯ นอกห้องเรียน เช่น ศูนย์วิทยบริการ ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ ฯลน)
         - การเสนอวิธีการจัดการเรียนการสอน อาทิ การจัดการเกี่ยวกับนักเรียน สื่อการสอน
         - การบริการด้านการวัดและการประเมิน (ในเมืองไทยปัจจุบันจะอยู่ในความดูแลของนักวัดผล แต่ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ จะอยู่ในความดูแลของนักเทคโนโลยีการศึกษา)

     2) การใช้กระบวนการทางสติปัญญา เป็นการใช้กระบวนการคิด ใคร่ครวญที่มีระเบียบระบบในการให้บริการ มิใช่เพียงการออกแรงกายเท่านั้น แม้บ่อยครั้งนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจจะต้องใช้แรงงาน ก็เพียงเพื่อให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มิใช่รอแรงงานจากฝ่ายอื่น แล้วนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเป็นฝ่ายชี้มองให้คนอื่นออกแรงเพียงอย่างเดียว

    3) การมีเสรีภาพในการประกอบวิชาชีพของนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา หมายถึง การที่นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา สามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ในการให้บริการในวิชาชีพของตนอย่างเป็นอิสระ กล่าวคือ มีอำนาจในการวางแผน เตรียมการดำเนินการและประเมินผลงานของตนเอง และสามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าในสายงานครบวงจรจากต่ำไปถึงสูงในกรอบแห่งกฎระเบียบและจรรยาบรรณในวิชาชีพ

    4) การมีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาเด่นชัด ผู้ที่จะมาเป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จะต้องผ่านการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ หรือมีประสบการณ์ที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่านั้น หลักสูตรการศึกษาอบรมมักมีจำนวนหน่วยกิตที่จะศึกษาและมีจำนวนปีที่จะศึกษาแน่นอน เช่น หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สำหรับผู้สำเร็จมัธยมศึกษา 2 ปี สำหรับผู้สำเร็จอนุปริญญาหรือปริญญาตรีมาแล้ว นอกจากนี้ นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (นับถึงปี พ.ศ.2538 มีสถาบันที่เปิดสอนถึงระดับปริญญาโทในเมืองไทยประมาณ 12 สถาบัน และปริญญาเอก 2 สถาบัน)

     5) การเข้ารับการฝึกงานหรือรับประสบการณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติม เมื่อเรียนวิชาครบตามกำหนดไว้ในหลักสูตรแล้ว นักศึกษาจะต้องเข้าฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ณ สถานที่และในเวลาที่กำหนด เพื่อให้มีโอกาสฝึกการนำความรู้ความสามารถมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง

     6) การมีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่ผ่านการศึกษาอบรมแล้ว ก็จะได้รับปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือวุฒิบัตรที่มีฐานะเทียบเท่าในบางประเทศ ผู้ประกอบอาชีพเป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจต้องได้รับใบอนุญาต (Credential/License) ก่อนที่จะประกอบวิชาชีพ สำหรับในเมืองไทย การได้รับปริญญาบัตรนับเป็นใบอนุญาตไปในตัว

     7) การมีจรรยาวิชาชีพเป็นกรอบกำหนดความประพฤติ ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเอารัดเอาเปรียบหรือทำความเดือดร้อนให้ตนเองหรือผู้อื่นและก้าวล้ำสิทธิวิชาชีพอื่น ในประเทศไทย นักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาส่วนใหญ่เป็นครูจึงอยู่ในการควบคุมของจรรยาวิชาชีพครู เมื่อมีสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาขึ้นแล้ว สมาคมนี้
ก็อาจจะกำหนดจรรยาวิชาชีพนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

     8) การมีองค์กรหรือสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา องค์กรดังกล่าวจะมีหน้าที่กำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยและส่งเสริมคุณภาพของสมาชิกที่เป็นนักเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เพื่อให้มีองค์ความรู้เพิ่มพูนและแนวปฏิบัติในการบริการมีประสิทธิภาพ

         สรุปได้ว่า เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะศาสตร์ที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวไว้มี 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก องค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาครอบคลุมด้าน (1) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ (nomenclatures) ได้แก่ การจัดระบบและออกแบบระบบ พฤติกรรมวิธีการ การสื่อสาร สภาพแวดล้อม การจัดการเรียนรู้และการประเมิน (2) โครงสร้างเนื้อหาสาระ (structure of content) ที่จำเป็น 3 มิติ คือ มิติด้านสาระ มิติด้านภาระกิจ และมิติด้านรูปแบบการศึกษา (3) วิธีการศึกษาค้นคว้าวิจัย (mode of inquiries) เป็นวิธีการใช้เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ด้านนี้เพิ่มขึ้นประเด็นที่สอง คือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูง เป็นการกล่าวถึงเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูง 8 ประการ คือ มีลักษณะบริการที่เด่นชัด ใช้กระบวนการทางสติปัญญา มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ มีหลักสูตรศึกษาอบรมที่มีระยะเวลาแน่นอน มีการฝึกงานหรือประสบการณ์วิชาชีพ มีใบรับรองหรือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และมีองค์กรหรือสมาคมกำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพคำกล่าวในประเด็นสอง คือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูงมีการกำหนดเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูงไว้ครอบคลุมคุณลักษณะตามองค์ประกอบของศาสตร์ทางเทคโนโลยีการศึกษา สามารถนำเกณฑ์วิชาชีพชั้นสูงเหล่านี้ไปประกอบการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางเทคโนโลยีการศึกษาต่อไป

อ้างอิง
         
          ชัยยงค์ พรหมวงศ์. เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในฐานะวิชาชีพชั้นสูง หน่วยที่ 1 เอกสารการสอนชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา. นนทบุรี. สาขาวิชาศึกษาศาสตร์. 2540

มิติของเทคโนโลยีการศึกษากับการสอนทางไกล

ความนำ                                                                                                                                
           
          การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนทุก ๆ สาขาอาชีพ  เพื่อให้มีความรู้  ความเข้าใจในหลักการ  ทฤษฎีและวิถีชีวิตในการดำรงชีวิตในสภาพปัจจุบัน  และเนื่องจากเทคโนโลยีการศึกษาได้เข้ามาช่วยสนับสนุนให้การศึกษาเกิดขึ้นได้ง่าย และสะดวกต่อการเรียนรู้  คนเราจึงควรรับรู้เข้าใจและนำข้อดีของเทคโนโลยีการศึกษานี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ  เพื่อให้เกิดประสิทธิผลตามจุดมุ่งหมายของการศึกษาที่ว่าการศึกษาทำให้เกิดการพัฒนา  และการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุด  คือการให้คนในประเทศได้รับการศึกษาที่ดีต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพสังคมและแม้จะอยู่ที่ใดก็สามารถได้รับการศึกษาตามต้องการ เนื้อหา การศึกษาในปัจจุบันอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการศึกษามาช่วยจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นการรับรู้  และเข้าใจเทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง เทคโนโลยีการศึกษาสามารถแยกองค์ประกอบ ได้เป็น  3  มิติ  ดังนี้

 มิติที่   1 เกี่ยวข้องกับหน้าที่ (Function) ที่เทคโนโลยีการศึกษามีต่อการศึกษา ซึ่งมีอยู่   3  ด้าน คือ

  1. ด้านการบริหาร  การศึกษาทางไกลจำเป็นต้องมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งหลักการบริหารแนวใหม่ต้องใช้ศักยภาพหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านบุคคล  บริหารวิชาการ  บริหารโครงสร้างพื้นฐาน  เป็นต้น

        1.1 ด้านวิชาการ  ดังที่กล่าวมาแล้ว  วิชาการในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระบวนทัศน์ในการคิดเชิงวิชาการต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตัวอย่างการเปลิ่ยนแปลงองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็คือ การกำหนดดาวนพเก้า หรือดาวเคราะห์ ว่ามีเพียง 8ดวงโดยดาวพลูโตถือว่าเป็นดาวเคราะห์แคระ อันเป็นความรู้ใหม่ที่แตกต่างจากที่เคยร่ำเรียนมาในอดีต

        1.2 ด้านการบริหาร  การศึกษาทางไกล ต้องเกี่ยวข้องกับการให้บริการกับผู้เรียนเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นการบริการต้องรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพและนึกถึงผู้รับบริการเป็นสำคัญ

มิติที่  2  เกี่ยวข้องกับระบบและการจัดการ (System  and  management)  ที่เทคโนโลยีการศึกษามีต่อการศึกษาซึ่งมีอยู่   7  ด้านได้แก่
  
        2.1  การจัดระบบ  ปัจจุบันการทำงานใด ๆต้องยึดถือระบบ เพราะการมีระบบที่ดีหมายถึง ประสิทธิภาพและคุณภาพของงาน  เทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบัน หมายถึง ระบบ (System) มิได้หมายถึงเฉพาะเครื่องมือ และอุปกรณ์เท่านั้น ระบบที่ผู้เขียนได้พัฒนาขึ้นมามีองค์ประกอบคือ ดูด( Input)สับ ซับ ซึม ซัด (Process) สุด (Output) ส่าย (Feedback)

       2.2 พฤติกรรม การศึกษาทางไกล ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้เรียนเป็นหลัก รวมถึงรูปแบบการเรียนเพื่อผลิตและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับคุณลักษณะผู้เรียนนั้น
  
       2.3  วิธีการ  การศึกษาทางไกล ต้องมีวิธีการที่หลากหลายใช้สื่อการสอนที่หลากหลายและนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้
  
       2.4  การสื่อสาร  การสื่อสารเข้ามามีบทบาทในกระบวนการเรียนการสอนทุก ๆ  ประเภท ทั้งวิธีการสอนแบบดั้งเดิม  และวิธีการสอนแนวใหม่  โดยเฉพาะการศึกษาทางไกลในปัจจุบันมีรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม มีผู้ส่ง  ผู้รับ ที่แตกต่างไปและใช้ช่องทางหลากหลาย  เป็นต้น

      2.5  สภาพแวดล้อม เทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางการเรียน  โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ มีส่วนสัมพันธ์กับการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการศึกษาทุกระดับและทุกรูปแบบ
  
      2.6 การจัดการ องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีการศึกษาคือการจัดการโดยเฉพาะ  การศึกษาทางไกล ในปัจจุบันต้องใช้เทคนิคการจัดการที่มีประสิทธิภาพ  จึงจะประสบผลสำเร็จ  ซึ่งมีทั้ง   4M  (Man, Money ,Material, และ Management)รวมถึง Information และ Technology  ด้วยซึ่งเรียกได้ว่าต้องมี 4MIT นั่นเอง

      2.7  การประเมิน การประเมินผลเป็นส่วนประกอบของระบบ คือ  Input  Process Output   และ Feedback  การที่จะรู้ว่าระบบดีหรือไม่ดี ต้องมีการประเมินอยู่เสมอ ๆ ทั้งภายในและภายนอก  จึงจะรู้ว่าประสิทธิภาพ และคุณภาพเป็นอย่างไร และมีข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) เป็นเช่นไร ทั้งนี้การศึกษาทางไกลต้องยิ่งให้ความสำคัญในการประเมิน

มิติที่  3  เกี่ยวข้องกับลักษณะของการศึกษา (Types)  ที่เทคโนโลยีการศึกษามีต่อการศึกษาซึ่งมี  4  ด้านได้แก่
  
      3.1 การศึกษาในระบบ  ซึ่งปัจจุบันนี้มีการเรียนการสอนในระบบทุกระดับและรัฐบาลได้ขยายการศึกษาในระบบออกไปครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีการขยายการศึกษาภาคบังคับ  ที่มีจำนวนปีมากขึ้น  เทคโนโลยีการศึกษาได้เข้ามามีบทบาทต่อการศึกษา  ในระบบมาเป็นเวลาอันยาวนาน
  
      3.2 การศึกษานอกระบบ  ปัจจุบันนี้รูปแบบการศึกษาเปลี่ยนไป  การศึกษานอกระบบได้เข้ามามีบทบาทมาก  โดยเฉพาะการศึกษาผู้ใหญ่ที่มีการทำงาน
ไปด้วยและศึกษาไปด้วยโดยไม่ต้องเสียเวลา แต่สามารถพัฒนาตนเองไห้ก้าวหน้าไปได้
  
      3.3 การศึกษาทางไกล     การศึกษาทางไกล จะสัมพันธ์อย่างยิ่งกับประเด็นต่าง ๆ   คือ  การออกแบบและพัฒนา  รูปแบบการศึกษาทางไกลในปัจจุบันมีปรัชญา ว่า  ใครก็ได้  อยู่ที่ไหน ก็ได้สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา  ทุกหนทุกแห่ง  ไม่ได้ติดอยู่กับสถานที่หรือเวลา ดังนั้นการออกแบบวิชาต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว และเมื่อออกแบบและพัฒนาแล้วต้องมีการจัดการที่ดี  ทั้งระบบการให้บริการ  การตรวจสอบ ติดตาม  นอกจากนั้น  การสนับสนุนส่งเสริมเผยแพร่  ก็เป็นสิ่งสำคัญ  การศึกษาทางไกลปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีเครือข่ายมาช่วยสนับสนุนมาก  โดยเฉพาะที่เรียกว่า ดิจิตอลอินเทอร์เน็ต เวบไซต์ รวมถึง  e-Leaning  ที่จะมีบทบาทต่อการศึกษารูปแบบนี้อย่างมากมาย

      3.4 การเผยแพร่และฝึกอบรม  นอกจากทำวิจัยทั้งติดตามผล และพัฒนาเพื่อให้เกิดความก้าวหน้า มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ แล้ว การนำเทคโนโลยีมาใช้ ต้องมีการเผยแพร่ให้ทราบข้อดี  ข้อด้อย และให้นำไปใช้มากขึ้น  จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้พัฒนาความรู้อยู่เสมอๆการเผยแพร่และฝึกอบรมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของเทคโนโลยีการศึกษา

ส่งท้าย
     
              จะเห็นได้ว่า   การศึกษาทุกลักษณะมีความสัมพันธ์อย่างยิ่ง กับการออกแบบและพัฒนา อาทิการออกแบบและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายหรือ e-Learning   การจัดระบบการเรียนการสอนที่สอดคล้อง  เพื่อให้ตรงกับจุดมุ่งหมายของการศึกษา  ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีการศึกษาสนับสนุนส่งเสริมให้การศึกษาสามารถทำให้ง่าย สะดวก  โดยเฉพาะการศึกษาทางไกลที่เน้นว่า  ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร ก็ได้ และการส่งเสริมเผยแพร่  เพื่อให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ  และให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจได้ทราบ  ได้ช่วยสนับสนุน  กำหนดเป็นประเด็นของการวิจัยต่อๆ ไป

อ้างอิง

     ผศ.ดร.สังคม ภูมิพันธุ์